วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

กีฬาแบดมินตัน

ประวัติกีฬาแบดมินตัน (Badminton)
แบดมินตันเป็นกีฬาที่นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายมากในโลกประเภทหนึ่ง เชื่อกันว่ากีฬาประเภทนี้นิยมเล่นกันมามากกว่า 60 ปีมาแล้ว แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนตายตัวว่ามาจากแหล่งใด คงมีแต่หลักฐานบางชิ้นที่บ่งว่ามีการเล่นประปรายในยุโรปตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 เกมที่ฝรั่งเขาเรียกกันว่า แบทเทิลดอร์กับลูกขนไก่ก็นับได้ว่าเป็นต้นตระกูลของกีฬาแบดมินตัน แม้จะมีชื่อเรียกต่างกันไปก็ตาม แต่วิธีเล่นยังคงเหมือนกัน มีบางคนกล่าวว่าได้มีการเล่นแบดมินตันมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 12 ในราชสำนักในอังกฤษและในประเทศจีนก็มีการเล่นเกมที่มีลักษณะคล้าย ๆ กับแบดมินตันในศตวรรษเดียวกัน
ในปี พ.ศ. 2403 ได้ค้นพบลูกขนไก่แบบโบราณ ซึ่งอยู่ในสภาพดีจำนวนมากถูกเก็บรักษาเอาไว้ที่แบดมินตันเฮ้าส์ ซึ่งมีรูปร่างและขนาดที่แตกต่างกันออกไปไม่แน่นอน แต่มีขนาดใหญ่ และหนักกว่าลูกขนไก่ในปัจจุบันมาก มีกำมะหยี่ห่อหุ้มที่ฐาน และผูกริบบิ้นสีสวยเอาไว้ และต่อมาได้พบลูกขนไก่ซึ่งมีหลักฐานระบุว่าทำขึ้นที่อินเดียในปี พ.ศ. 2408 ถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์มีขนไก่ 19 ขน ความยาวของขนไก่ 3 นิ้ว มีฐานเป็นไม้คอร์ก พื้นเรียบมีริบบิ้นผูกติดเอาไว้ด้วย ในปี ค.ศ. 1870 ได้มีการจดบันทึกประวัติกีฬาแบดมินตันไว้เป็นการแน่นอนโดยกล่าวว่าการเล่นกีฬาแบดมินตันได้เกิดขึ้นที่เมืองปูนา ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ ห่างจากบอมเบย์ในประเทศอินเดียประมาณ 50 ไมล์ โดยเล่นบนพื้นสนามหญ้าเอาไม้แผ่นกระดานบาง ๆ มาทำเป็นไม้ตีคล้ายพัดตีลูกขนไก่โต้กันไปมา ต่อมามีนายทหารอังกฤษที่ไปประจำการอยู่ที่นั้น นำเกมการตีลูกขนไก่นี้กลับไปยังเกาะอังกฤษ และเล่นกันอย่างแพร่หลาย ณ คฤหาสน์แบดมินตัน ของท่านดยุค แห่งบิวฟอร์ดที่กล๊อสเตอร์ในปี ค.ศ. 1873 เป็นคฤหาสน์ที่ใหญ่โตกว้างขวาง มีเนื้อที่เป็นสวนรุกขชาติล้อมรอบมีปริมณฑล 10 ไมล์ อยู่ในทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองบริสตอลราว ๆ 17
ไมล์ ต่อมาก็เรียกชื่อกีฬาลูกขนไก่นี้ว่า "แบดมินตัน" ตามชื่อคฤหาสน์ ดังกล่าวตั้งแต่นั้นมา หลังจากนั้นก็มีการเล่นกีฬาแบดมินตันแพร่หลายไปยังประเทศต่าง ๆ ในภาคพื้นยุโรป เช่นเดนมาร์ก สวีเดน เป็นต้น เกมกีฬาแบดมินตันนี้มีลักษณะคล้าย ๆ กับการเล่นเทนนิสแต่สามารถเล่นได้ภายในตัวตึกโดยไม่ต้องกังวลต่อลม หรือหิมะที่กระหน่ำมารบกวนการเล่นเกมในฤดูหนาว เมื่อมีชาวยุโรปได้อพยพไปอยู่ในทวีปอเมริกา ได้นำเอาเกมการเล่นนี้ไปด้วย ส่วนทางเอเชียนั้น ได้มีการแพร่หลายมาโดยทหารเรืออังกฤษนำมาเล่นในอาณานิคมของอังกฤษที่ถูกยึดครองเป็นส่วนใหญ่ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มาเลเซีย ต่างนำเกมแบดมินตันไปเล่นยังประเทศของตนอย่างแพร่หลาย การที่ประเทศอังกฤษมีอาณานิคมกว้างขวางทำให้เกมการเล่นแบดมินตันแพร่หลายไปยังส่วนต่าง ๆ ของโลกอย่างกว้างขวาง รวมทั้งประเทศไทยด้วย


กีฬาวอลเลย์บอล

กีฬาวอลเลย์บอล

กีฬาวอลเลย์บอล เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2438 โดยนาย วิลเลี่ยม จี มอร์แกน(Willam G.Morgan) ผู้อำนวยการฝ่ายพลศึกษาของสนาม วาย.เอ็ม.ซี.เอ (Young Men’s Christian Association) เมืองฮอลโยค(Holyoke) มลรัฐแมทซาชูเซตส์ (Massachusetts) ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้คิดเกมการเล่นขึ้นมา เนื่องจากในฤดูหนาวหิมะตกมากผู้คนทั่วไปไม่สามารถเล่นกีฬากลางแจ้งได้ เขาได้พยายามคิดและดัดแปลงกิจกรรมต่างๆ เพื่อใช้เป็นกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจหรือผ่อนคลายความตึงเครียด ขณะที่เขาดูการแข่งขันเทนนิส ได้เกิดแนวความคิดที่จะนำลักษณะและวิธีการเล่นของกีฬาเทนนิสมาดัดแปลงใช้ เล่น จึงใช้ตาข่ายเทนนิสขึงระหว่างเสาโรงยิมเนเซียมสูงจากพื้น 6 ฟุต 6 นิ้ว ใช้ยางในของลูกบาสเกตบอลสูบลมแล้วใช้มือและแขนตีโต้ข้ามตาข่ายกันไปมา เนื่องจากยางในลูกบาสเกตบอลนิ่มเกินไป ทำให้ลูกบอลเคลื่อนที่ช้าและทิศทางที่เคลื่อนที่ไปไม่แน่นอน จึงเปลี่ยนมาใช้ลูกบาสเกตบอล แต่ลูกบาสเกตบอลใหญ่ หนัก และแข็งเกินไปทำให้มือของผู้เล่นได้รับบาดเจ็บ เขาจึงว่าจ้างให้บริษัท A.G Spalding and Brother Company ผลิตลูกบอลที่หุ้มด้วยหนังและบุด้วยยาง มีเส้นรอบวง 25-27 นิ้ว หนัก 9-12 ออนซ์ หลังจากทดลองเล่นแล้ว เขาได้ตั้งชื่อเกมการเล่นนี้ว่า “มินโตเนท” (Mintonette)
ปี พ.ศ. 2439 มีการประชุมสัมมนาผู้นำทางพลศึกษาที่วิทยาลัยสปริงฟิลด์ (Sprpingfield College) นายวิลเลี่ยม จี มอร์แกน ได้สาธิตวิธีการเล่นต่อหน้าที่ประชุมซึ่งศาสตราจารย์อัลเฟรด ที เฮลสเตด (Alfred T.Helstead) ได้เสนอแนะให้มอร์แกนเปลี่ยนจากมินโตเนท (Mintonette) เป็น “วอลเลย์บอล”(Volleyball) โดยให้ความเห็นว่าเป็นวิธีการเล่นที่ตีโต้ลูกบอลให้ลอยข้ามตาข่ายไปมาใน อากาศ โดยผู้เล่นพยายามไม่ให้ลูกบอลตกพื้น
ต่อมากีฬาวอลเลย์บอลได้แพร่หลายและเป็นที่นิยมเล่นกันในหมู่ประชาชนชาวอเมริกันเป็นอย่างมาก และแพร่หลายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นเกมที่เล่นง่าย สามารถเล่นได้ตามชายทุ่ง ชายหาด และตามค่ายพักแรมทั่วไป


วันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

กีฬาบาสเกตบอล


กีฬาบาสเกตบอล (Basketball)

กีฬาบาสเกตบอลเป็นกีฬาประเภททีม มีผู้เล่นฝ่ายละ ๕ คน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำลูกบาสเกตบอลไปโยนลงห่วงประตูของฝ่ายตรงกันข้ามให้ได้มากที่สุด โดยมีทักษะการเล่น ได้แก่ การส่ง – รับลูกการเลี้ยงลูกและการยิงประตู กีฬาบาสเกตบอลมีกำเนิดขึ้น เป็นครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเริ่มจาก ดร. เจมส์ เอ เนสมิท (JamesA.Naismith) ได้คิดขึ้นเพื่อเล่นในโรงพลศึกษาของโรงเรียนฝึกอบรม ของสมาคมวายเอ็มซีเอนานาชาติ
(International Young Men’s Christian Association Training School) ที่เมือง สปริงฟีลด์ มลรัฐแมสซาซูเซตส์ ในช่วงที่มีหิมะตก เมื่อ ค.ศ. ๑๘๙๑ (พ.ศ. ๒๔๓๔) โดยใช้ตะกร้าลูกพีช ๒ ใบแขวนเป็นประตู จึงทำให้กีฬานี้ได้ชื่อว่าบาสเกตบอล (Basketball) การเล่นครั้งนั้นใช้ ลูกฟุตบอลเป็นลูกบอล มีผู้เล่นทั้งหมด ๑๘ คน แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายละ ๙ คน มีกฎการเล่น ๔ ข้อ คือ
๑. ห้ามถือลูกเคลื่อนที่
๒. ห้ามมิให้ผู้เล่นปะทะตัวกัน
๓. ประตูอยู่ระดับศีรษะและขนานพื้น
๔. ผู้เล่นจะถือลูกบอลนานเท่าใดก็ได้ ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามจะต้องไม่ถูกตัวผู้เล่น

ต่อมามีการปรับปรุงการเล่นเป็น ๑๓ ข้อโดยลดผู้เล่นเหลือฝ่ายละ ๕ คน เนื่องจากในการเล่นเกิดการ ปะทะกันเพราะสนามแคบ ดังนั้นจึงทำให้เกมการเล่นสมบูรณ์ยิ่งขึ้นทั้งยังลดการปะทะกันอีกด้วย ในปัจจุบันกติกาการเล่นดังกล่าวยังคงปรากฏอยู่ ณ โรงพลศึกษาเมืองสปริงฟีลด์ คือ

๑. การโยนลูกจะใช้มือเดียวหรือสองมือโดยไปในทิศทางใดก็ได้
๒. การตีลูกจะใช้มือเดียวหรือสองมือตีไปทิศทางใดก็ได้
๓. ผู้เล่นจะพาลูกบอลวิ่งไม่ได้ และต้องส่งตรงจุดรับลูกบอล ยกเว้นขณะที่วิ่งมารับลูกด้วยความเร็วให้เคลื่อนไหวได้เล็กน้อย
๔. ต้องจับลูกบอลด้วยมือทั้งสองข้าง โดยไม่ให้ใช้ส่วนอื่นของร่างกาย
๕. การเล่นจะชน คือผลักหรือทำให้ฝ่ายตรงข้ามล้ม ถือว่าฟาวล์หนึ่งครั้ง ถ้าฟาวล์ครั้งที่สองให้ออกจากการแข่งขัน จนกว่าจะมีผู้เล่นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยิงประตูได้จึงจะกลับมาเล่นได้อีก ถ้าเกิดการบาดเจ็บขณะเล่นไม่อนุญาตให้มีการเปลี่ยนตัว
๖. การทุบด้วยกำปั้นถือว่าผิดกติกาให้ปรับเช่นเดียวกับ ข้อ 5
๗. ทีมใดทำฟาวล์ติดต่อกัน 3 ครั้ง ให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ประตู
๘. การได้ประตูทำได้โดยการโยนหรือปัดลูกบอลให้ขึ้นไปค้างบนตะกร้า
๙. เมื่อลูกบอลออกนอกสนาม ผู้เล่นนที่จับลูกบอลคนแรกเป็นผู้ทุ่มลูกเข้ามาเล่นต่อ กรณีที่ไม่สามารถรู้ได้ว่าใครก่อนหลังผู้ตัดสินจะส่งลูกบอลเข้ามาให้ ผู้ส่งจะต้องส่งลูกบอล เข้าสนามภายใน 5 วินาที ถ้าช้ากว่านี้จะให้ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามส่งแทน ถ้าผู้เล่นถ่วงเวลา การเล่นให้ปรับฟาวล์
๑๐. ผู้ตัดสินมีหน้าที่ตัดสินผู้ฟาวล์ และลงโทษผู้เล่น
๑๑. ผู้ตัดสินทำหน้าที่ตัดสินลูกบอลออกนอกสนาม และรักษาเวลา บันทึกจำนวนลูกที่ได้และทำหน้าที่ทั่วไปของผู้ตัดสิน
๑๒. การเล่นแบ่งเป็น 2 ครึ่ง ครึ่งละ 15 นาที
๑๓. ฝ่ายที่ทำประตูได้มากกว่าเป็นฝ่ายชนะหัวหน้าทีมจะตกลงกันถ้าคะแนนเท่ากัน เพื่อต่อเวลาแข่งขัน ถ้าฝ่ายใดทำประตูได้ก่อนจะเป็นฝ่ายชนะ


ประเทศไทยเริ่มเล่นกีฬาบาสเกตบอลกันตั้งแต่เมื่อใด สมัยใด ยังไม่มีหลักฐานยืนยันอย่างแน่ชัด แต่เท่าที่ค้นคว้าและมีหลักฐานยืนยันว่าในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ นายนพคุณพงษ์สุวรรณ อาจารย์สอนภาษาจีนได้แปลกติกา การเล่นบาสเกตบอลจากภาษาอังกฤษ เป็นภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรก

พ.ศ ๒๔๗๗ กรมพลศึกษาได้จัดการแข่งขันกีฬา บาสเกตบอลระดับนักเรียนขึ้น เป็นครั้งแรก สมัยที่ น.อ หลวงศุภชลาศัย ร.น ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมพลศึกษา
พ.ศ ๒๔๙๕ ได้มีการจัดการแข่งขันกีฬาบาสเกตบอลระหว่างนักเรียนหญิง และการแข่งขันระหว่างประชาชนทั่วๆไป


พ.ศ.๒๔๙๖ ได้มีการจัดตั้งสมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศไทย และได้เป็นสมาชิก สมาคมบาสเกตบอลระหว่างประเทศตั้งแต่ วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๔๙๖


ปัจจุบันกีฬาบาสเกตบอลถูกบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนแทบ ทุกระดับการศึกษา คือตั้งแต่ระดับประถม มัธยม และอุดมศึกษา นอกจากนี้ยังมี การแข่งขัน อยู่ตลอดเวลา องค์กรสำคัญที่ส่งเสริมและจัดการแข่งขันกีฬาบาสเกตบอล ในประเทศไทย ได้แก่ สมาคมบาเกตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ กรมพลศึกษา กรุงเทพมหานครการกีฬาแห่งประเทศไทย ทบวงมหาวิทยาลัย (กีฬามหาวิททยาลัย) กองทัพ (กีฬาเหล่าทัพ) กองทัพอากาศ (กีฬานักเรียน) สถาบันการศึกษาทั่วไป


ตำแหน่งผู้เล่นและโครงสร้าง


ถึงแม้ว่าในกฎจะไม่กำหนดตำแหน่งใด ๆ ของผู้เล่น แต่เรื่องนี้มีวิวัฒนาการจนเป็นส่วนหนึ่งของบาสเกตบอล ในช่วงห้าสิบปีแรกของเกม จะใช้ การ์ดสองคน ฟอร์เวิร์ดสองคน และเซ็นเตอร์หนึ่งคนในการเล่น ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา มีการแบ่งชัดเจนขึ้นเป็น พอยท์การ์ด (หรือการ์ดจ่าย) ชู้ตติ้งการ์ด สมอลฟอร์เวิร์ด เพาเวอร์ฟอร์เวิร์ด และ เซ็นเตอร์ ในบางครั้งทีมอาจเลือกใช้ การ์ดสามคน แทนฟอร์เวิร์ดหรือเซ็ตเตอร์คนหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า three guard offe

การเล่นตั้งรับ มีหลักการแตกต่างกันสองรูปแบบ คือ ตั้งรับแบบโซน (zone defense) และ แบบแมน-ทู-แมน (man-to-man defense) การตั้งรับแบบโซน ผู้เล่นจะยืนคุมผู้เล่นฝ่ายบุกที่อยู่ในโซนที่ตัวเองรับผิดชอบ ส่วนแบบ แมน-ทู-แมน นั้น ผู้เล่นฝ่ายรับแต่ละคนจะยืนคุมและป้องกันผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามที่โค้ชวางแผนการเล่นเอาไว้

ส่วนการเล่นบุกทำคะแนนมีหลากหลายกว่า เกี่ยวข้องกับแผนการส่งลูก และการเคลื่อนไหวของผู้เล่นที่ไม่ถือลูก การคัท (cut) หรือวิ่งตัด คือการที่ผู้เล่นที่ไม่มีลูกวิ่งอย่างรวดเร็วไปยังตำแหน่งที่ได้เปรียบ การสกรีน (screen) หรือ พิก (pick) คือการที่ผู้เล่นฝ่ายบุกยืนขวางทางผู้เล่นฝ่ายรับที่ประกบเพื่อนร่วมทีมในขณะที่เพื่อนร่วมทีมนั้นวิ่งตัดข้าง ๆ เขา การเล่นสองแบบนี้สามารถรวมเข้าเป็นพิกแอนด์โรล (pick and roll) โดยที่ผู้เล่นคนแรกทำพิกจากนั้นก็หมุนตัววิ่งเข้าหาห่วง (ซึ่งเรียกว่าโรล) สกรีน และ คัท เป็นส่วนสำคัญของการเล่น ทำให้ส่งลูกและทำคะแนนได้สำเร็จ ทีมมักมีแผนการเล่นที่หลากหลายเพื่อให้อีกฝ่ายไม่สามารถคาดเดาการเล่นได้ ในสนามผู้เล่นตำแหน่งพอยท์การ์ดมักมีหน้าที่บอกแผนการเล่นที่จะใช้ให้กับเพื่อนร่วมทีม